แม้ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้วแต่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งที่หนักที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและการดำรงชีวิตของผู้คนในหลายพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทีม “สิงห์อาสา” จึงรวมตัวกันอีกครั้งผ่านโครงการสิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกับ เครือข่ายสิงห์อาสา จากมหาวิทยาลัย ราชภัฏ ราชมงคล และอาชีวศึกษาจาก 16 สถาบัน ที่มีพื้นที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดทีมเฝ้าระวังพื้นที่ 20 จังหวัด พร้อมร่วมวางแผนและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด
นอกจากการทีมสิงห์อาสาได้มีการตั้งรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีแล้ว เรามองถึงแผนดำเนินการระยะยาว เพราะที่ผ่านมา สิงห์อาสา เราระดมทีมลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดภัยธรรมชาติเป็นประจำทุกปี ทั้งภัยแล้ง ภัยหนาว รวมถึงอุทกภัย ซึ่งมองว่าภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถอยู่ร่วมกับภัยต่างๆ เหล่านี้ได้ ถ้าเรามีการบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งในเบื้องต้นได้ระดมทีมลงพื้นที่จัดหน่วยรถบรรทุกน้ำเคลื่อนที่ออกไปแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยใช้น้ำดื่มสะอาดจากโรงงานขอนแก่น บริวเวอรี่ จำกัด และ มหาสารคาม เบเวอเรซ จำกัด ตั้งเป้าปริมาณเบื้องต้นไว้ที่ 1 ล้านลิตร ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมถึงจัดโครงการธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบยั่งยืน โดยติดตั้งแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ (2,000 ลิตร) ในโรงเรียนหรือแหล่งชุมชนที่ขาดแคลนน้ำดื่มและมีความจำเป็น โดยจะมีรถขนส่งน้ำของสิงห์อาสานำน้ำไปเติมให้ตลอดเวลาเพื่อให้มั่นใจว่ามีน้ำสะอาดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค
ยิ่งกว่านั้น ทีมสิงห์อาสายังเสริมภูมิต้านทานและต้านภัยแล้งให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ด้วยการดำเนินโครงการปราชญ์ชาวบ้าน ที่ทำอย่างต่อเนื่องซึ่งในปีนี้จะเริ่มช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อส่งต่อแนวความคิดการทำการเกษตรสู้ภัยแล้ง เช่น วิธีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ทำกิน การส่งต่อความรู้เรื่องการเพาะปลูกพืชในช่วงหน้าแล้ง การกักเก็บน้ำเพื่อใช้หมุนเวียนในพื้นที่ เป็นต้น ตลอดจนเสริมสร้างทักษะแก่ทีมสิงห์อาสา ในลักษณะรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง มุ่งสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นในขณะลงพื้นที่ประสบภัยต่างๆ จนสามารถปฏิบัติภารกิจยามฉุกเฉินได้ทันท่วงที
นาย ทัศไนย สมบูรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมสิงห์อาสา เผยถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมโครงการสิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง ว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เข้าร่วมกับเครือข่ายสิงห์อาสา ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอยู่ในขณะนี้ โดยร่วมกับเพื่อนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มาด้วยหัวใจอาสารุดลงพื้นที่เข้าไปในชุมชนที่แห้งแล้ง เพื่อแจกน้ำดื่มให้แก่ประชาชน รวมทั้งติดตั้งแท้งค์น้ำแก่ โรงเรียนและวัด ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นมากกว่าการช่วยเหลือ อย่างล่าสุดที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ทำให้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของคุณป้าท่านหนึ่งที่ได้พูดกับเราว่า “ปกติแม่ทำนาได้ข้าวเป็น 100 กระสอบเลยลูก แต่ปีนี้แม่ทำได้แค่ 10 กระสอบเอง” ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความแห้งแล้งแต่เมื่อเราไปถึงบ้านทุกคนจะเรียกให้ดื่มน้ำก่อนที่จะพากันกลับไปยังจุดช่วยเหลือ นั่นเป็นสิ่งที่ได้จากการเป็นสิงห์อาสา จากที่เป็นเพียงนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งเคยคิดว่าคงทำอะไรไม่ได้มาก แต่เมื่อได้ร่วมกับสิงห์อาสาทำให้มีโอกาสมาช่วยเหลือผู้อื่น และสิ่งที่ทำก็ไม่ได้หวังค่าตอบแทนใดๆ แต่ได้เป็นรอยยิ้มกลับมาแทน
ด้าน นางสาว สุชาดา จนจันทึก นักศึกษา ชั้นปีที่ 1 คณะ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงความรู้สึกว่า เริ่มทำกิจกรรมกับสิงห์อาสาครั้งแรกเมื่อตอนเข้าร่วมค่ายผู้นำ ครั้งที่ 1 ซึ่งได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์มากมาย อย่างลงพื้นที่ชุมชนแจกเสื้อกันหนาว สอนหนังสือเด็กๆ นอกจากได้ร่วมกิจกรรมแล้ว ยังได้เจอเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัยที่มีอุดมการณ์หัวใจอาสาเดียวกัน สำหรับโครงการสิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้เข้ามาร่วมกับสิงห์อาสา โดยเดินทางไปแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาด รวมถึงแท้งค์น้ำใช้สำหรับชุมชน ซึ่งนอกจากลงพื้นที่แจกน้ำดื่มสะอาดแล้ว ยังลงพื้นที่สำรวจสถานที่ที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ และได้นำข้อมูลเหล่านั้นมานำเสนอทีมสิงห์อาสา รวมถึงติดต่อประสานงานกับผู้นำชุมชนต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้าวในพื้นที่ได้ทราบข่าวสารของการแจกน้ำดื่มสะอาดอีกทางหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า การเข้าร่วมกับสิงห์อาสา ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยและอากาศจะร้อน แต่พอได้ลงมือทำแล้วหายเหนื่อย เพราะได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข มีรอยยิ้ม และที่สำคัญคือเพิ่มพูนประสบการณ์แก่ตนเองด้วย
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ถือเป็นภัยแล้งที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยถูกบันทึกในประเทศไทย ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ทางสิงห์อาสาได้เก็บบันทึกภาพภัยพิบัติและความยากลำบากของผู้คน โดยหวังว่าภาพเหล่านี้จะทำให้คนไทยและสังคมรอบข้างตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชมภาพได้จากลิงค์ http://talesfromthedrought.singha-arsa.com/
โดยภาพจากช่างภาพชาวต่างชาติ 2 คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ท่านแรก คือ บอร์ฮา ซานเชซ-ทรีโล คือช่างภาพชาวสเปนที่มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพมากว่า 15 ปี เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านสื่อสารมวลชน และได้ศึกษาต่อปริญญาโทด้านการกำกับโทรทัศน์ และออกแบบโปรแกรมทางโทรทัศน์ งานของเขาได้รับการตีพิมพ์โดยสื่อนานาชาติที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น เดอะนิวยอร์ค ไทม์ส เดอะการ์เดี้ยน นิตยสารไทม์ นิตยสารอัลจาซีร่า และสปอร์ต อิลลัสเตรเตด อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับสำนักข่าวระดับโลกที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ เก็ตตี้ อิมเมจ กอร์ดอน เพรส เอเอฟพี และองค์กรนานาชาติอย่างเช่น ยูเนสโก และกรีนพีซ เป็นต้น
ท่านช่างภาพคนที่สอง คือ ดาริโอ้ พินยาเทลลี่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยทำหน้าที่ถ่ายภาพข่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ทำให้เขารู้จักประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดีมาก เขาเคยร่วมงานกับสำนักข่าวนานาชาติมากมาย อาทิ รอยเตอร์ สำนักข่าวฝรั่งเศส (หรือ อาชองซ์ ฟรองซ์ เปรซ) และมีประสบการณ์ในการถ่ายภาพข่าวทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือ ปัจจุบันเขาเป็นผู้ถ่ายภาพข่าวและวิดีโอให้กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ส่วนงานที่เป็นโปรเจคถ่ายภาพส่วนตัวของเขานั้นจะถูกเผยแพร่โดยโพลาริส อิมเมจเจส ที่กรุงนิวยอร์ค ซึ่งเป็นเอเจนซี่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่บริหารคลังภาพข่าว
ทีม “สิงห์อาสา” เป็นเพียงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีหัวใจแห่งการ “ให้” เราไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ แต่พลังที่มีอาจไม่มากพอ ในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ สิ่งที่จะทำให้เราก้าวผ่านทุกปัญหาไปได้ นั่นคือ ความร่วมแรงร่วมใจจากทุกคนในการระดมช่วยเหลือกันอย่างจริงใจ ซึ่งพลังที่เกิดขึ้นนี้จะสร้างความแข็งแกร่งจนสามารถฝ่าวิกฤตภัยธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น