อพท. ชูยุทธศาสตร์แผนงานปี 59 เล็งคลอดพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษ สร้างรายได้สู่ชุมชน หนุนเศรษฐกิจโตยั่งยืนตามนโยบายประชารัฐ

 

อพท. กางแผนยุทธศาตร์ดำเนินงานปี 59  ผลักดัน 2 พื้นที่  “หัวหิน-เชียงแสนจ่อคิวเข้า ครม. หลัง 6 พื้นที่พิเศษที่ประสบความสำเร็จ  ตามนโยบายประชารัฐ สร้างรายได้ชุมชน หนุนเศรษฐกิจเติบโต มั่งคั่ง ยั่งยืน 

พันเอก ดรนาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ในปี 2559 อพท.ได้วางยุทธศาตร์การดำเนินงานของหน่วยงาน ที่จะมุ่งกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นที่ อพท.เข้าไปส่งเสริมในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในระดับชุมชนทั่วประเทศ   และมีรูปแบบการดำเนินการแบบบูรณาการเชื่อมโยง 3 ฝ่าย ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน  เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายประชารัฐ  เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ  ชุมชนมีความเข้มแข็ง  สู่เป้าหมายการเป็นองค์กรชั้นนำด้านการท่องเที่ยวอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

ขณะนี้ อพท.เตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มเติมอีก 2 พื้นที่ คือ พื้นที่พิเศษเมืองหัวหิน – ชะอำ และพื้นที่เชื่อมโยง  และพื้นที่เมืองโบราณเชียงแสนและพื้นที่เชื่อมโยงจังหวัดเชียงราย  ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559         โดยปัจจุบัน อพท. มี 6 พื้นที่พิเศษในการเข้าไปส่งเสริม  ได้แก่ 1. พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง  2. พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง 3.พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร 4.พื้นที่พิเศษเลย 5. พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน 6.พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง  จ.สุพรรณบุรี

นอกจาก พื้นที่ที่ อพท. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยังมี อีก 10พื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพและเตรียมจะศึกษาเพิ่มเติมภายในปี 2560 โดยคัดจาก 40 พื้นที่ที่ อพท. เคยศึกษาไว้เมื่อหลายปีก่อน ได้แก่ 1.กลุ่มวัฒนธรรมล้านนา ครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ เชียงแสน ลำพูน ลำปาง 2. พื้นที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 3. พื้นที่อุทยานประวัติศาสตรพระนครศรีอยุธยา 4. พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลอง และพื้นที่เชื่อมโยง 5. พื้นที่ประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำน้อย-ท่าจีน และพื้นที่เชื่อมโยง 6. พื้นที่อุทยานโลกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว และพื้นที่เชื่อมโยง7. พื้นที่อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก 8. พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 9. พื้นที่เกาะสมุย-พะงัน และ10. พื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลสาบสงขลา

ปีที่ผ่านมา  ผลการดำเนินงานของ อพท. ประสบความสำเร็จ ในเชิงของการขยายผลพื้นที่พิเศษ การเข้าไปส่งเสริมพัฒนาชุมชน  ให้เป็นไปตามนโยบายของประชารัฐ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งจะเห็นว่าวันนี้ชุมชนในพื้นที่พิเศษมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง   และพัฒนาสู่การเป็นชุมชนต้นแบบสำหรับการเรียนรู้สู่ชุมชนอื่นๆ เท่ากับเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนฐานรากของประเทศ พันเอก ดรนาฬิกอติภัค กล่าว

ทิศทางการดำเนินงานของ อพท.ในระยะ 3-5 ปี อพท.จะมุ่งขยายผลสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งให้ชุมชน  ผ่านเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษ  เพื่อให้ชมรมเป็นผู้ขับเคลื่อนและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชุมชนขยายผล โดยมีเป้าหมายร่วมกับภาคีทั้ง 30 องค์กรที่มุ่งลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับ 1,500 ตำบล ภายในปี 2559 และเพิ่มเป็น 2,500 ตำบลในปี 2560 

สำหรับผลงานดำเนินงานในปี 2558 ที่ผ่านมา  อพท.ได้เดินหน้ายกระดับและพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในพื้นที่พิเศษได้อย่างเป็นรูปธรรมหลายด้าน  ได้แก่การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในสินค้าและผลิตภัณฑ์ ในกิจกรรมและโครงการต่างๆ  อาทิ  1.การจัดทำเกณฑ์มาตรฐานการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่พิเศษ  จนประสบผลสำเร็จเป็นชุมชนต้นแบบทั้ง 13 แห่ง ซึ่งมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ด้านการทองเที่ยวเชิงสร้างสรรค์  เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ   ได้แก่ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด ชุมชนแหลมกลัด จ.ตราด ชุมชนสันลมจอย จ.เชียงใหม่ ชุมชนบ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่ ชุมชนชากแง้ว จ.ชลบุรี ชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี  ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย ชุมชนคุกพัฒนา จ.สุโขทัย  ชุมชนนครชุม จ.กำแพงเพชร ชุมชนกกสะทอน จ.เลย ชุมชนปลาบ่า จ.เลย ชุมชนในเวียง จ.น่าน ชุมชนบ่อสวก จ.น่าน  

2.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนแห่งชาติ 5 คลัสเตอร์ ขยายผลการท่องเที่ยวชุมชนสู่ระดับประเทศ 3.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านโรงแรมที่พักในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง   เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการกำหนดราคาที่พัก  และการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานของเมืองพัทยาสามรถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น  

นอกจากนี้ ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองนโยบายมั่งคั่งของรัฐบาล  อพท.ได้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ร่วมภาคีเครือข่ายการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ ความร่วมมือ 4 เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชื่อมโยง 2 ฝั่งแม่น้ำโขง เลย  ลาว  เพื่อการพัฒนาด้านความร่วมมือการท่อเที่ยวระหว่างประเทศไทย-ลาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีไทยในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงด้วยการสร้างกิจกรรม “ถนนคนเดิน ตลาดจีนโบราณ ชากแง้ว” ซึ่งสามารถทำให้ชุมชนมีเงินสะพัดในช่วงที่ผ่านมากว่า 60 ล้านบาท 

ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ตอบสนองนโยนบายความยั่งยืนของรัฐบาล อพท.ได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและ บุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรากฐานความยั่งยืนให้แก่ระดับชุมชน  โดยมีการประเมินความสำเร็จจากดัชนีอยู่ดีมีสุข ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินโครงการพัฒนาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองเก่าน่าน  ซึ่งมีการสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ไม่ว่าจะเป็น กลองปูจา สู่สากล ผ้าทอลายน้ำไหล เป็นต้น  

ด้านการพัฒนามัคคุเทศก์ท้องถิ่น ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชณาลัย กำแพงเพชร ซึ่งจากการประเมินดัชนีความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่พิเศษจาก 6 องค์ประกอบ 53 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ การมีสุขภาวะเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ผลการชี้วัดพบว่า ระดับความอยู่ดีมีสุขอยู่ที่ 74.29ซึ่งชี้ให้เห็นว่าชุมชนที่ได้รับการเข้าไปสนับสนุนจากอพท.มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุขเพิ่มมากขึ้น 

 

--------------------


ความคิดเห็น